กวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ หรือไร้การสัมผัส ของ กวีนิพนธ์

ในช่วงที่การแต่งกลอนประเภทเคร่งฉันทลักษณ์และพราวสัมผัสถึงจุดอิ่มตัว บรรดากวีเริ่มแสวงหารูปแบบคำประพันธ์ใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ และสามารถสื่อ สาร ได้อย่างเสรี ไม่ติดในกรอบฉันทลักษณ์ จึงปรากฏรูปแบบกวีนิพนธ์ที่เรียกกันว่า กลอนเปล่า หรือ กวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ กวีนิพนธ์รูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในวงวรรณกรรมของไทยสูงสุด เมื่อหนังสือรวมบทกวี ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์อิสระ ได้รับการคัดเลือกให้ชนะเลิศรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2553

กลอนเปล่า เป็นคำประพันธ์ที่พัฒนามาจากฟรีเวิร์ส (อังกฤษ: Blank Verse) ของตะวันตก เป็นกลอนในวรรณคดีอังกฤษที่ไม่มีการสัมผัสคำ แต่มีการเน้นเสียงในลักษณะ lambic Pentameter คือ 1 บาท แบ่งเป็น 5 จังหวะ จังหวะละ 2พยางค์ พยางค์แรกเสียงเบา (ลหุ) พยางค์หลังเสียงหนัก (ครุ) กลอนเปล่าได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของกวีนิพนธ์ประเภทบรรยายโวหารยาว ๆ (soliloquy) รวมทั้งงานด้านปรัชญาและการละคร นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา[6] กลอนเปล่าปรากฏอยู่ทั่วไปในงานประพันธ์บทละครของเชคสเปียร์ โดยมักเป็นบทพูดของตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ หรือมีฐานันดรสูงกว่าคนปกติ บทกวีมหากาพย์ Paradise Lost ของจอห์น มิลตัน ใช้รูบแบบฉันทลักษณ์ของกลอนเปล่าประพันธ์ทั้งหมด

กลอนเปล่าของไทย เริ่มนับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงนำกลอนเปล่าเข้ามาใช้ในไทย โดยใช้เป็นบทสนทนาที่แปลมาจากบทละครของเช็คเสปียร์ ต่อมา จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทร้อยกรองชื่อพิราบขาวในลักษณะของกลอนเปล่า แต่เป็นกลอนเปล่าที่เปลี่ยนแปลไปจากเดิมในความหมายจากตะวันตก ซึ่งทำให้มีผู้เรียกว่า กลอนปลือย

กลอนเปล่าและกลอนเปลือยที่ไทยใช้ จึงหมายถึงงานเขียนที่ผู้แต่งมุ่งประหยัดและพิถีพิถันในการใช้คำและที่สำคัญ คือ ผู้เขียนพยายามจัดถ้อยคำเป็นวรรค หรือเป็นรูปใดรูปหนึ่งคล้ายร้อยกรอง เพียงแต่ไม่มีสัมผัสบังคับเท่านั้น

วรรณรูป หรือกวีนิพนธ์รูปธรรม (อังกฤษ: Concrete Poetry) เป็นการผสมผสานทัศนศิลป์และวรรณศิลป์เข้าด้วยกัน กวีผู้โดดเด่นในเรื่องนี้ได้แก่ จ่าง แซ่ตั้ง ซึ่งใช้ความเป็นจิตรกรในการเขียนงานกวีนิพนธ์ งานวรรณรูปของเขามีทั้งแบบที่ใช้ถ้อยคำเรียงกันแบบกลอนเปล่า และแบบที่ใช้ถ้อยคำเรียงกันเป็นรูปภาพ งานวรรณรูปที่ปรากฏในปัจจุบันมิได้บ่งชัดว่าได้รับอิทธิพลจากชาติใด นับเป็นความริเริ่มของ จ่าง แซ่ตั้ง เลยทีเดียว

แคนโต้ จัดเป็นบทกวีประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นกลอนเปล่า 3 บรรทัด “แคนโต้” เป็นเพียงบทกวีที่ประกอบไปด้วยกลุ่มถ้อยคำสั้น ๆ แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ เมื่อกลุ่มคำเหล่านี้ ถูกจัดเรียงเป็นสามบรรทัดแล้ว กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เมื่อได้อ่านแคนโต้ของใครผู้ใดก็ตาม เป็นความยาวต่อเนื่องจำนวนมาก คุณจะกลายเป็นผู้ล่วงล้ำ เข้าไปรับรู้ถึงอารมณ์ และห้วงความคิดคำนึงของชีวิตใครผู้หนึ่ง ในลักษณะปะติดปะต่อ และในยามที่คุณเผชิญหน้ากับถ้อยคำสั้น ๆ เหล่านั้น คุณจะได้พบกับความหมายบางอย่าง ผ่านความอ่อนไหว จากชีวิตเล็ก ๆ บนโลกนี้

แคนโต้ เป็นบทกวีไทยร่วมสมัย เกิดขึ้นโดยคนไทย มีลักษณะเป็นลูกผสมระหว่างตะวันออกและตะวันตก รูปแบบคล้ายกวีไฮกุของญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ตรงที่ไฮกุจะเน้นไปทางการแสวงหาความหลุดพ้น แต่แคนโต้นั้นเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

ในประเทศไทยมีผู้เขียนบทกวี 3 บรรทัดอยู่บ้างประปราย แต่คนที่นิยาม การรวมกลุ่มของบทกวี 3 บรรทัด ที่มีความยาวต่อเนื่อง 400 บทขึ้นไปว่า “แคนโต้”นั้น คือ ฟ้า พูลวรลักษณ์

จากแคนโต้หมายเลขหนึ่ง [7]

บทที่ 1

บ้านของข้าเงียบสงับ

อยู่ในตรอก

ข้าไม่มีเพื่อนสักคน

ในการสื่อสารด้านอารมณ์ การเขียนกวีนิพนธ์มักมีรูปแบบที่สั้นและกระชับ หรืออาจมีการใช้การพ้องเสียงหรือการกล่าวซ้ำ ๆ เพื่อสร้างให้เกิดผลคล้ายดนตรีหรือคำพูดในพิธีกรรม คุณภาพของบทกวีมักขึ้นอยู่กับการสร้างให้เกิดมโนภาพ การเกี่ยวข้องกันของคำ และความไพเราะของภาษาที่ใช้